ลำดับเจ้าอาวาส

ลำดับเจ้าอาวาส
    เจ้าอาวาสพระอารามนี้ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังไม่สามารถสืบค้นได้ เมื่อถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ได้มีเจ้าอาวาสครองวัดจำนวน ๑๒ รูป มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
    ๑.    สมเด็จพระราชาคณะ ๒ รูป
    ๒.    พระราชาคณะเจ้าคณะรอง (รองสมเด็จพระราชาคณะ) ๒ รูป
    ๓.    พระราชาคณะชั้นธรรม ๒ รูป
    ๔.      พระราชาคณะชั้นเทพ ๑ รูป
    ๕.     พระราชาคณะชั้นสามัญ ๖ รูป
    ๖.    พระครูสัญญาบัตร ๑ รูป
    ๗.    มีพิเศษอีก ๑ รูป คือ พระราชานุพัทธมุนี (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) อดีตเจ้าอาวาส
รูปที่ ๖ ที่ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ “สมเด็จพระพุทธ-
โฆษาจารย์” เมื่อไปครองวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๘
    มีรายนามและประวัติย่อพอสืบค้นได้ ดังนี้
    ๑. พระพุทธโฆษาจารย์ (ศรี เปรียญเอก) (๒๘ ปี, พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๕๒)
    ชาติภูมิไม่ปรากฏ เดิมพระมหาศรี เปรียญเอก อยู่วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) 
ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในฝ่ายวิปัสสนามาแต่เดิม เมื่อรัชกาลที่ ๑ โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้าฉิม กรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ ๒) ทรงบูรณะวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) แล้ว
ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพโมลี” แล้วโปรดให้ย้ายมาครองพระอารามนี้ 
ภายหลังได้พระราชทานสถาปนาเป็นที่ “พระพุทธโฆษาจารย์”
    ๒. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) (๒๒ ปี, พ.ศ. ๒๓๕๓ – ๒๓๗๔)

    ชาติภูมิไม่ปรากฏ ลำดับสมณศักดิ์แต่เดิมไม่ทราบได้ ทราบแต่ว่า ได้รับสถาปนา
เป็นที่ “พระพุทธโฆษาจารย์” ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ต่อมา รัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จ
พระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” เพราะเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรในเบื้องต้นแด่พระเจ้าแผ่นดินถึง ๒ รัชกาล คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช เจ้าประคุณสมเด็จก็เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ด้วย เจ้าประคุณสมเด็จเป็น
ผู้มีความรู้ความสามารถทุกด้าน และมีปฏิปทาเป็นที่น่าเลื่อมใสของพระเจ้าแผ่นดิน
และประชาชนทั้งปวง ดังนั้น เมื่อมรณภาพแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 
จึงโปรดให้หล่อรูปไว้ในหอพระเจ้า (หอสมเด็จ) เสมอกันกับพระรูปสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก) ซึ่งเป็นพระอุปัธยาจารย์ เพื่อเป็นที่ทรงสักการะบูชาเวลาเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
    ๓. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม ป.๙) (๑๙ ปี, พ.ศ.๒๓๗๕ – ๒๓๙๓) 
    ชาติภูมิเป็นชาวบ้านบางจาน จังหวัดเพชรบุรี เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๔๕ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๖ อุปสมบทที่จังหวัดเพชรบุรี แล้วมาเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ พระนคร ถึงรัชกาลที่ ๒ สอบได้เปรียญ ๙ ประโยค ได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระราชาคณะที่ “พระรัตนมุนี” อยู่วัดพระเชตุพนฯ ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๖๙ ได้รับการทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ 
“พระเทพโมลี” ต่อมา ถึงปีมะโรง พ.ศ.๒๓๗๕ ตรงกับวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น ที่ “พระพุทธโฆษาจารย์” แล้วโปรดให้อาราธนามาครองวัดโมลีโลกย์ มีสำเนาประกาศที่ทรงตั้ง ดังนี้
    “ศิริยศยุภมัศดุ อดีตกาลพระพุทธศักราช ชไมยสหัสสสังวัจฉร ไตรสตาธฤกปัญจสัตตติ-สังวัจฉร ปัตยุบันกาล นาคสังวัจฉร ผคุณมาศ สุกขปักษ์ เอกาทศมีดฤดี ศุกรวาร ปริเฉทกาลอุกกฤษฏ์ สมเด็จบรมธรรมมฤกพระมหาราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์ อนันตคุณวิบุลยปรีชาอันมหาประเสริฐ ทรงพระราชศรัทธา มีพระราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัส พระราชูทิศถาปนาให้เลื่อนพระเทพโมลีขึ้นเป็น “พระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลย์ สุนทรนายก ติปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี  สถิต ณ วัดโมลีโลกสุธารามาวาศ วรวิหาร พระอารามหลวง ให้จฤกถฤกาลอวยผล พระชนมายุศมศิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนา เทอญ”
    ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ “สมเด็จพระพุทธ-
โฆษาจารย์” เมื่อปีกุน พ.ศ.๒๓๙๔ พร้อมกับทรงตั้งสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส 
ตำแหน่งเจ้าคณะกลาง เพราะคณะเหนือมีสมเด็จพระอริยวงศ์ เป็นเจ้าคณะอยู่แล้ว และ
โปรดให้อาราธนามาครองวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) (พ.ศ.๒๓๙๔-พ.ศ.๒๔๐๐) มีสำเนาที่ทรงตั้ง ดังนี้
    “ให้เลื่อนพระพุทธโฆษาจารย์ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลย์ 
สุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลย์คัมภีรญาณ สุนทรมัชฌิมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี สถิตในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรวิหาร พระอารามหลวง มีนิตยภัตร
เดือนละ ๕ ตำลึง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัด นิตยภัตร
เดือนละ ๒ ตำลึง ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระครูสังฆกรรมประสิทธิ์ ๑ 
พระครูวิจิตรสาลวัน ๑ พระครูสังฆสิทธิกร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑”
ตำนานสุขาภิยาจนคาถา
อัจฉริยภาพด้านภาษาบาลีของเจ้าประคุณสมเด็จ
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม ป.๙) เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระพุทธโฆษาจารย์”
ในรัชกาลที่ ๓ มีเหตุเป็นอริกับพระวชิรญาณภิกขุ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
เมื่อยังทรงผนวชถึง ๒ คราว คือ คราวหนึ่ง เมื่อพระวชิรญาณภิกขุเข้าแปลหนังสือหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันแรกทรงแปลอรรถกถาธรรมบท รุ่งขึ้นทรง
แปลมังคลัตถทีปนี พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นผู้นั่งในคณะกรรมการสอบพระปริยัติธรรม
สนามหลวงในขณะนั้น ในการแปลพระปริยัติธรรมครั้งนั้น พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) 
ได้สอบถามข้อความที่แปล เนื่องจากเห็นว่าทรงแปลไม่ถูกต้องไม่ผ่านเกณฑ์จะให้
พระวชิรญาณภิกษุตกเสียให้ได้ กระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับนั่งฟังการแปลอยู่ด้วยรู้สึกขัดพระราชหฤทัย จนต้องโปรดให้หยุดการแปลหรือหยุดการสอบ เรื่องนี้จึงเป็นที่เล่าลือกันตลอดมา
    อีกเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า ปลายรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะแล้ว มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมที่
พระอุโบสถวัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นคณะกรรมการผู้สอบครั้งนั้น นักเรียนผู้เข้าสอบแปลคือ พระมหาผ่อง พระบาท-สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เกิดมีความเห็นแตกต่างกัน
ในเรื่องการแปลหนังสือ จนถึงกับเป็นเหตุบาดหมางกันขึ้นอีกครั้ง
    ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) มีความหวาดหวั่นต่อพระราชอาญาเป็นกำลัง เกรงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพยาบาท เตรียมจะหลบเลี่ยงออกไปอยู่เมืองเพชรบุรีบ้านเกิด แต่เมื่อถึงคราวเลื่อนสมณศักดิ์พระราชาคณะผู้ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งว่า พระพุทธโฆษาจารย์
(ฉิม) นี้ หนังสือดี ซึ่งหมายความว่า มีความรู้ทางภาษาบาลีดี ให้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จ-
พระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ ซึ่งเป็นปีที่ทรงครองราชสมบัติ ซึ่งในคราวนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชด้วย แล้วโปรดให้มาครองวัดมหาธาตุ
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) มีความยินดีรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ไม่ทรงพยาบาท จึงได้แต่งคาถาถวายพระพรเป็นภาษาบาลีบทหนึ่งสนองพระเดชพระคุณ ชื่อว่า สุขาภิยาจนคาถา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าคาถานั้นไพเราะ แต่งดีมีอรรถรสทางภาษาและความหมาย จึงโปรดให้พระสงฆ์สวดในพระบรมมหาราชวังเป็นประจำ ซึ่งยังถือเป็นประเพณีสวดสืบมาจนทุกวันนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ถึงมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ ในรัชกาลที่ ๔ สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี
    ๔. พระธรรมไตรโลก (รอด ป.ธ.๔) (๑๖ ปี, พ.ศ.๒๓๙๔ – ๒๔๐๙)
    ประวัติเดิมไม่สามารถจะสืบได้ ปรากฏแต่ว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระกระวีวงศ์” อยู่วัดโมลีโลกย์สุธาราม ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพกระวี” ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุน พ.ศ.๒๓๙๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ “พระธรรมไตรโลก” ซึ่งเป็นปีที่พระพุทธโฆษาจารย์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น
สมเด็จพระราชาคณะ ท่านครองวัดโมลีโลกย์ต่อจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้เป็นพระอาจารย์สอนบาลี และต่อมาก็ได้รับพระกรุณาโปรดให้ไปครองวัดมหาธาตุ 
ท่านถึงมรณภาพในรัชกาลที่ ๔ เมื่อราวปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙
    ๕. พระธรรมเจดีย์ (อยู่ ป.ธ.๔) (๒๐ ปี, พ.ศ. ๒๔๑๐ – ๒๔๒๙)
    เกิดในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๑๗๗ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๕๘ 
ชาติภูมิเป็นชาวเมืองแกลง จังหวัดระยอง สมัยรัชกาลที่ ๓ อุปสมบทแล้ว ได้เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมในพระนคร ในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกย์ และ
ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมได้เปรียญ ๔ ประโยค เป็นพระสงฆ์ที่เก่งภาษาบาลีมากรูปหนึ่ง เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัว เป็นศิษย์เอกของเจ้าประคุณสมเด็จรูปหนึ่ง
    มีคำเล่ากันว่า เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ เปรียญที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า-
เจ้าอยู่หัวโปรดปรานมากมี ๔ รูป ด้วยกัน เรียกนามเป็นคำคล้องจองกันว่า “ชา ชู อยู่ เย็น”
    พระมหาชา เป็นเปรียญ ๘ ประโยค อยู่วัดมหาธาตุลาสิกขาออกมารับราชการ 
ในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นนายหัสบำเรอหุ้มแพร ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์ คือ หลวงศรีสังขกร พระพิพากษานานาประเทศกิจ พระยาจ่าแสนบดี และพระยาพฤฒาธิบดี
ในกระทรวงมหาดไทย
    พระมหาชู เป็นเปรียญ ๘ ประโยค อยู่วัดโมลีโลกย์ ได้เป็นพระราชาคณะที่ 
“พระนิกรมมุนี” แล้วไปอยู่วัดนาคกลาง ลาสิกขาออกมารับราชการในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นหลวงราชาภิรมย์ในกรมราชบัณฑิต ชำนาญเทศน์มหาชาติมากหาผู้เสมอมิได้ โปรดให้เป็นพระอาจารย์หัดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายเทศน์มหาชาติ
เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร ต่อมา ก็ได้หัดพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่นอีกหลายพระองค์ ในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้เป็นตำแหน่งหลวงอัธยา ในกรมลูกขุน ณ ศาลหลวง แล้วได้เลื่อนเป็น
พระราชครูพิราม
    พระมหาเย็น เป็นเปรียญ ๘ ประโยค อยู่วัดมหาธาตุ ลาสิกขาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นจางวางในสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ 
โปรดให้เป็นหลวงอัธยา แล้วได้เลื่อนเป็นหลวงเทพราชธาดาในกรมลูกขุน ณ ศาลหลวง
    ส่วน พระมหาอยู่ นั้น เมื่อรัชกาลที่ ๔ โปรดพระราชทานสถาปนาให้พระพุทธ-โฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ไปครองวัดมหาธาตุ ก็ตามไปอยู่ด้วยจนเจ้าประคุณสมเด็จมรณภาพแล้ว จึงกลับมาอยู่วัดโมลีโลกย์ ต่อมาได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระอมรเมธาจารย์” เมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๔๐๘ และโปรดให้อาราธนาไปครองวัดนาคกลาง ต่อมา ถึงปีเถาะ พ.ศ.๒๔๑๐ เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกย์
ว่างลง (พระธรรมไตรโลก (รอด) มรณภาพ) จึงโปรดให้อาราธนากลับไปครองวัดโมลีโลกย์ 
ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพมุนี” เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ แล้วโปรดให้เลื่อนเป็น “พระธรรมเจดีย์” เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔ ถึงมรณภาพด้วยอหิวาตกโรค
ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันอังคาร เดือนหก ขึ้น ๒ ค่ำ อัฐศก เวลาบ่ายสี่โมงเศษ ปีจอ 
พ.ศ. ๒๔๒๙ สิริรวมอายุ ๗๒ ปี
    ๖. พระราชานุพัทธมุนี (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร, ป.๕) (๗ ปี, พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๓๖)

    เป็นบุตรหม่อมเจ้าถึกในสมเด็จพระประพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เกิดที่บ้านบางอ้อ จังหวัดนครนายก เพราะบิดาไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๑๙ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๐๐ ได้ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพกับบิดาแต่ยังเยาว์วัย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักบิดา แล้วเริ่มเรียนภาษาบาลีในสำนักอาจารย์จีน พออายุได้ ๗ ขวบ บิดาพาไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) แต่ยังเป็นเปรียญอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม (วัดบางหว้าใหญ่) ได้เรียนพระปริยัติธรรมในสำนักหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) และพระอมรเมธาจารย์ (เกษ) แต่เมื่อยังเป็นเปรียญ หม่อมเจ้าชุมแสง ผู้เป็นลุง และพระโหราธิบดี (ชุม) ทั้ง ๔ นี้ เป็นพื้น นอกจากนั้น ได้เรียนกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) บ้าง สมเด็จพระวันรัต (แดง) บ้าง และอาจารย์อื่นๆ อีกมากมาย
     สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ ในปีนั้นเอง
สามเณรเจริญเข้าแปลพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค 
แต่อายุ ๑๔ ปี ถึงปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ ยังเป็นสามเณร ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็น
ครั้งที่ ๒ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ แปลได้อีกประโยค ๑ รวมเป็น ๔ ประโยค
    ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๑๒ อายุครบอุปสมบท ทรงพระกรุณาโปรดให้อุปสมบทเป็น
นาคหลวงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์
(ทัต) เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์เป็นพระอุปัชฌาย์ 
เมื่ออุปสมบทแล้วได้ฉายาว่า าณฉนฺโท ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมาอีกครั้งหนึ่งที่
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นครั้งที่ ๓ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๒๕ แปลได้อีก ๑ ประโยค รวมเป็นเปรียญ ๕ ประโยค
    ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ได้รับพระราชทานตั้งเป็น
พระราชาคณะมีพระราชทินนามเป็นพิเศษว่า “พระราชานุพัทธมุนี” โปรดให้อาราธนาไปครองวัดโมลีโลกย์ เดิมได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉกหักทองขวางอย่างพระราชาคณะสามัญ ต่อมา ถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๖ เมื่อหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์ไปครองวัดพระเชตุพนฯ แล้ว จึงโปรดให้อาราธนากลับมาครองวัดระฆังโฆสิตาราม พระราชทานตาลปัตรพื้นแพรปักเลื่อม
อย่างตาลปัตรหม่อมเจ้าซึ่งหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์ทรงครองอยู่ก่อนนั้นให้ถือเป็นเกียรติยศต่อมา อีกทั้งพระราชทานนิตยภัตเพิ่มขึ้นเสมอพระราชาคณะชั้นเทพด้วย 
ในปีมะแม พ.ศ.๒๔๓๘ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพเมธี” เมื่อวันที่ 
๒๘ มีนาคม ร.ศ.๑๑๔ ต่อมาในปีขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนเป็น 
“พระธรรมไตรโลกาจารย์” เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๑ 
    สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เจ้าคณะรองชั้น สุพรรณบัฏที่ “พระพิมลธรรม” เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ปีจอ พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยทรงพระราชดำริว่า 
พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นเชื้อพระราชวงศ์ ได้ผนวชในพระพุทธศาสนามาหลาย
พรรษากาลมีความแตกฉานในพระปริยัติธรรม สอบไล่ได้เป็นเปรียญตั้งแต่ยังเป็น
สามเณร ครั้นเมื่ออายุครบกำหนดที่ควรจะอุปสมบทแล้ว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วได้เข้าแปลประโยคอีกครั้ง ๑ มั่นคงในสมณปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวโปรดให้เป็น
พระราชาคณะที่ พระราชานุพัทธมุนี แล้วโปรดให้ไปครองวัดโมลีโลกย์ ๗ พรรษา 
จนตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ย้ายมาครองวัดระฆังฯ 
ซึ่งเป็นที่สถิตเดิม พระราชทานพัดแฉกพื้นแพร ภายหลังได้เลื่อนตำแหน่งชั้นเทพและ
ชั้นธรรมตามลำดับ นับว่าได้ทรงพระเมตตามาก พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นผู้ชำนาญ
ทางเทศนา มีโวหารกังวาลดีเป็นที่น่าฟัง ทั้งมีเสียงอันดี ขัดตำนานอ่านประกาศไพเราะ
น่านิยม เมื่อได้รับพระราชทานอาราธนาบัตรเป็นเจ้าคณะมณฑลตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ก็ได้ปฏิบัติจัดการตามตำแหน่งหน้าที่เรียบร้อยสม่ำเสมอ นับว่าได้กระทำคุณประโยชน์ในทางทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและการศึกษา อีกทั้งได้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์กุลบุตรเป็นอันมาก เป็นที่นิยมนับถือแห่งศาสนิกชนบริษัท ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต 
อนึ่งเป็นราชวงศ์ผู้ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่อันมีน้อยตัวหาได้ยาก จึงสมควรเพิ่มสมณศักดิ์ให้สูงยิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนพระธรรม
ไตรโลกาจารย์ เป็นพระราชาคณะตำแหน่งเจ้าคณะรอง มีนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า
    “พระพิมลธรรม มหันตคุณ วิบุลยปรีชาญาณนายก ตรีปิฏกคุณาลังการวิภูษิต 
อุดรทิศคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี สังฆนายก สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร พระอารามหลวง เจ้าคณะรองฝ่ายเหนือ มีนิตยภัตราคาเดือนละ ๓๒ บาท  มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฒนกวีคุณ วิบุลยธรรมคณิศร อุดรสังฆนายกธุรวาห มีนิตยภัตราคาเดือนละ ๘ บาท ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระครูสรวิไชย ๑ พระครูไกรสรวิลาส ๑ พระครูธรรมบาล ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๘ รูป”
    ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชา
คณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ญาณอดุลยสุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลย-คัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี มหาสังฆนายก ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ อายุได้ ๗๑ ปี พรรษา ๔๙ ได้รับพระราชทานโกศมณฑปเป็นพิเศษ
สำหรับงานพระราชทานเพลิงศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง
    ๗. พระวิเชียรธรรมคุณาธาร (โสตถิ์ หรือ สด ป.๓) (๑๗ ปี, พ.ศ. ๒๔๓๗ – ๒๔๕๓)
    ชาติภูมิไม่ปรากฏ ท่านเป็นลมถึงมรณภาพในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๓ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙
    ๘. พระสนิทสมณคุณ (เงิน) (๓ ปี, พ.ศ. ๒๔๕๔ – ๒๔๖๓)

    ชาติภูมิอยู่จังหวัดพระตะบอง ซึ่งจังหวัดนี้แต่เดิมอยู่ในความปกครองของประเทศสยาม เกิดวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ 
บิดาชื่ออินทร์ มารดาชื่ออิ่ม อุปสมบทที่วัดนะรา พระธรรมวงศาจารย์ (คุง) เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทแล้วมาศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระธรรมเจดีย์ (ทอง) วัดอรุณราชวราราม และในสำนักพระยาธรรมปรีชา (ทิม), หลวงราชาภิรมย์ (ต่าย) และอาจารย์คง ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งหนึ่ง แต่สอบตกประโยค ๓ 
    ต่อมาถึง พ.ศ.๒๔๓๔ ร.ศ.๑๑๐ ในรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูปัญญาคธาวุธ” และโปรดให้เป็นเจ้าคณะใหญ่ เมืองพระตะบอง ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ พระราชทานสมณศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะในราชทินนามที่ พระปัญญาคธาวุธ พ.ศ. ๒๔๔๓ โปรดให้เปลี่ยนราชทินนามเป็น “พระสนิทสมณคุณ” และโปรดให้เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลบูรพาถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ ร.ศ. ๑๒๖ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมือง จังหวัดพระตะบองตกไปอยู่ในความปกครองของรัฐบาลฝรั่งเศษ พระสนิทสมณคุณจึงกลับเข้ามาอยู่วัดพระเชตุพนฯ จังหวัดพระนคร ระหว่างนี้ได้พระราชทานนิตยภัตเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ ๒๑ บาท ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๕๔ สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดให้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกย์ครองวัดอยู่ราว ๑๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ – พ.ศ. ๒๔๖๓ พระสนิทสมณคุณ อาพาธเป็นโรคชรา มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ สิริรวมอายุ ๖๘ ปี 
    ๙. พระประสิทธิศีลคุณ (จ้อย ป.๔) (๓๖ ปี, พ.ศ. ๒๔๖๔ – ๒๔๙๒)

    เกิดในรัชกาลที่ ๕ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ร.ศ. ๙๔ ที่ตำบลบ้านบุญลือ อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ บิดาชื่อหร่าย มารดาชื่อเต่า อุปสมบทที่วัดขวิด อำเภอน้ำซึม จังหวัดอุทัยธานี พระครูธรรมวินิจฉัน (นุ่น) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วมาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนักวัดมหาธาตุ ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเปรียญ ๔ ประโยค ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระประสิทธิศีลคุณ” ภายหลังโปรดให้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ (บางแห่งว่า พ.ศ. ๒๔๖๓) ถึง พ.ศ. ๒๔๙๒
    ๑๐. พระครูสังวรโมลี (ชาลี อุตฺตโร ป.ธ.๓) (๒๒ ปี, พ.ศ. ๒๔๙๓ – ๒๕๑๔)
    เกิดในรัชกาลที่ ๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ ภู 
มารดาชื่อ เหม เป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ (บางแห่งว่า พ.ศ.๒๔๘๔) 
ได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔
    ๑๑. พระรัตนมุนี (โสม ปญฺญาวุฑฺโฒ ป.ธ.๗) (๒๕ ปี, พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๓๙)

    เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ บ้านขามป้อม อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มารดาชื่อสงค์ อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙  ที่บ้านขามป้อม เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และเป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. ๒๕๑๗พระรัตนมุนี เป็นเจ้าสำนักเรียนรูปแรกของสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม ท่านได้อุตสาหะจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมจนมีผู้สอบบาลี นักธรรม ได้มากพอสมควร จนได้รับแต่งตั้งเป็นสำนักเรียนในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ จากนั้น ท่านก็ได้จัดการเรียนการสอนอย่างเข้มแข็งมาตามลำดับจนมีผู้สอบได้ทุก ๆ ปี แม้ไม่มากนักก็ตาม ท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะสงฆ์หลายอย่างเพียงพอแก่การรองรับพระภิกษุสามเณรในยุคนั้น
    ๑๒.พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.๘) (๑๕ ปี, พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๕๔)

    เกิดเมื่อปีระกา ตรงกับวันจันทร์ ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นบุตรของนายคำมา  ธรรมวรางกูร และ นางคำ ธรรมวรางกูร ณ บ้านหนองบัว หมู่ที่ ๙ ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๖ ณ วัดอินทรแบก อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีพระวิสุทธิธรรมาจารย์ (ทรัพย์) วัดใหม่กรงทอง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
    ท่านมีความชำนาญด้านกฎหมายคณะสงฆ์ ด้านงานสารบรรณ ด้านสังฆกรรม และที่โดนเด่นที่สุด คือ ด้านกวีนิพนธ์ อาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นนักกวีที่เป็นพระสงฆ์ที่โดนเด่นที่สุดในยุคนี้ทีเดียว นอกจากนั้น ท่านยังได้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ทางการคณะสงฆ์หลายอย่างกล่าวคือเป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๐ เป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ เป็นเจ้าคณะภาค ๑๐ ถึง ๕ สมัยเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๖ ถึง ๔ สมัย เป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม รูปที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น
    ในด้านสาธารณูปการนั้น ถือว่าพลิกฟื้นเสนาสนะสงฆ์ เขตพุทธาวาส และอาณาบริเวณของวัดโมลีโลกยารามที่ทรุดโทรมอย่างหนัก เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในปีพ.ศ. ๒๕๔๗–พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้เริ่มบูรณะเสนาสนะสงฆ์ รวมทั้งเขตพุทธาวาส อย่างจริงจังทำให้มีเสนาสนะที่อยู่อาศัยสำหรับพระภิกษุสามเณรอย่างเพียงพอตามงบประมาณที่มีอยู่ นอกจากนั้น ท่านได้สร้างศูนย์การคณะสงฆ์ภาค ๑๐ ทั้งในส่วนอาณาบริเวณ อาคารหอประชุม เป็นต้น เพื่อใช้เป็นประโยชน์แก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนาภาค ๑๐ นับเป็นศูนย์การคณะสงฆ์ระดับภาคแห่งแรกอย่างเป็นทางการ
    ในด้านการศาสนศึกษา ท่านได้พลิกฟื้นสำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามจากการที่มีผู้สอบบาลีได้เพียง ๒-๓ รูป เท่านั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อได้รับการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้มีผู้สอบได้มากถึง ๘๐-๙๐ รูป ในแต่ละปี ทำให้สำนักเรียนที่ทรุดโทรมแห่งนี้โดดเด่นขึ้นเป็นสำนักเรียนดีเด่น มีผู้สอบบาลีได้มากที่สุดในกรุงเทพมหานครหลายสมัย มีพระภิกษุสามเณรได้รับทุนเล่าเรียนหลวงในโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ มากกว่า ๓๐ รูป นับได้ว่า ท่านมีผลงานที่ยิ่งใหญ่ฝากไว้แก่อนุชน ทั้งด้านการศาสนศึกษา การปกครอง การสาธารณูปการ การเผยแผ่ รวมทั้งบทกวีนิพนธ์ที่เป็นอมตะอีกมากมาย
    ในด้านสมณศักดิ์ ท่านได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระศรีสุธรรมมุนี” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระราชเมธี” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น
พระราชาคณะชั้นเทพที่ “พระเทพปริยัติสุธี” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทาน
เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ “พระธรรมปริยัติโสภณ” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ 
และในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ เป็นกรณีพิเศษ ที่ “พระพรหมกวี” มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี ๕๘ พรรษา
    ๑๓. พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.๙) (พ.ศ. ๒๕๕๕-ปัจจุบัน)

    สถานะเดิมชื่อ สุทัศน์  นามสกุล ไชยะภา เกิดเมื่อปีกุน ตรงกับวันเสาร์ ที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นบุตรของนายสา ไชยะภา และนางจันทร์  ไชยะภา ณ บ้านเลขที่ ๑๕๒ หมู่ที่ ๕ บ้านราษฎร์นิยม ตำบลโคกตูม อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อจบประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้วก็ได้บรรพชาครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๗ 
โดยมีพระครูวิบูลวุฒิคุณ (ฉลัน) อดีตเจ้าอาวาสวัดตาไก้พลวงและรองเจ้าคณะอำเภอนางรอง เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านจึงเข้าศึกษานักธรรมตรีที่สำนักศาสนศึกษาแห่งนี้ จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อนักธรรมโท-เอก และบาลี ณ วัดกลาง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้การปกครองของพระครูพิทักษ์ชินวงศ์ เจ้าคณะอำเภอนางรอง (สมัยนั้น) 
    เมื่อสอบประโยค ป.ธ.๔ ได้แล้ว   พระครูพิทักษ์ชินวงศ์ จึงนำมาฝากพระราชเมธี (วรวิทย์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ  ยุวราชรังสฤษฎิ์ รองเจ้าคณะภาค ๑๐ และเจ้าคณะ ๘ ขณะนั้น เพื่อเข้าศึกษาต่อ ท่านมีวิริยะอุตสาหะในการศึกษาอย่างยวดยิ่งสามารถสอบผ่านชั้นประโยค ป.ธ.๕ ถึง ป.ธ.๙ โดยไม่สอบตกเลย
    ธรรมเนียมวัดมหาธาตุนั้น เมื่อมีสามเณรนวกะเข้ามาอยู่อาศัยแต่ละปี จะต้องผ่านการอบรมกรรมฐาน การอบรมขนบธรรมเนียมประเพณีของวัดมหาธาตุ และบรรพชาใหม่ ท่านจึงได้บรรพชาอีกครั้งเมื่อวันที่ ๔ เดือนกรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๓๓  โดยมี พระสุเมธาธิบดี 
(บุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ ป.ธ.๘) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์ อดีตเจ้าคณะ-กรุงเทพมหานคร และอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นพระอุปัชฌาย์
    เมื่อจบเปรียญ ๖ ประโยค อายุครบอุปสมบทแล้ว ได้กลับไปอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดกลาง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่  ๒๑ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๓๕  โดยมีพระราชเมธี
(วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.๘) ต่อมา ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ พระพรหมกวี อดีตเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม, อดีตเจ้าคณะภาค ๑๐ และอดีตหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๖ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูพิทักษ์ชินวงศ์ (บัณฑร ชินวํโส 
น.ธ.เอก, อภิธรรมบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดกลาง ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์  และเจ้าคณะอำเภอนางรอง เป็นพระกรรมวาจารย์ มีพระครูธีรคุณาธาร ต่อมา ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระเทพปริยัตยาจารย์  (สุพจน์ โชติญาโณ ป.ธ.๕, น.ธ.เอก, Ph.D.) 
เจ้าอาวาสวัดกลาง (พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์  จังหวัดบุรีรัมย์ และ
เจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพระอนุสาวนาจาจารย์
    เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็ศึกษาต่อจนจบ ป.ธ.๙ ที่สำนักเรียนวัดมหาธาตุก็ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี-ปริญญาโท และปฏิบัติหน้าที่ครูสอนในมหาธาตุวิทยาลัยจนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ จึงได้เป็นพระอนุจรติดตามพระเทพปริยัติสุธี (วรวิทย์) ผู้เป็น
พระอุปัชฌาย์ไปอยู่วัดโมลีโลกยาราม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในระยะแรกทำหน้าที่เป็นรองอาจารย์ใหญ่ (พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๓) และอาจารย์ใหญ่ (พ.ศ. ๒๕๔๔-ปัจจุบัน) ตามลำดับ ช่วยพระอุปัชฌาย์สอนบาลีและนักธรรม และบูรณปฏิสังขรณ์วัดโมลีโลกยาราม
ตามความสามารถ จนทำให้สำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามภายใต้การนำของพระเทพปริยัติสุธี 
(วรวิทย์) ทะยานขึ้นสู่ ๕ อันดับของประเทศ และเป็นอันดับ ๑ ของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
    นอกจากจะทำงานบริหารการศึกษาของสำนักเรียนแล้ว ท่านยังได้ศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาเอกอีกด้วย
    ในด้านสมณศักดิ์นั้น ปี พ.ศ.๒๕๕๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น
พระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระเมธีวราภรณ์ 
    เมื่อพระพรหมกวี (วรวิทย์) ได้มรณภาพลงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ 
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในเวลา
ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๕ เมื่ออายุครบ ๔๑ ปี และในเดือนธันวาคม ปีต่อมา 
(๒๕๕๖) ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปริยัติโมลี 
ในปี ๒๕๕๗ เป็นเจ้าคณะเขตบางกอกใหญ่ ปี ๒๕๕๘ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๙ 
๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ 
พระเทพปริยัติโมลี  พ.ศ. ๒๕๖๓   ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ “พระธรรมราชานุวัตร” 
  เมื่อได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ก็ได้ตั้งปณิธานสาน
ต่อเจตนารมณ์ของบูรพาจารย์ของสำนัก ได้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและ
แผนกบาลีอย่างเข้มแข็ง ทำให้มีผู้สอบได้มากกว่า ๑๐๐ - ๒๐๐ รูป ในแต่ละปี นับเป็นผลงาน
อันยิ่งใหญ่ในชีวิต

- สำนักงานเจ้าคณะภาค 9
- มหาบาลีวิชชาลัย
- คณะสงฆ์ภาค 10
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- ประกาศรับสมัครครู
วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
โทร. 0-2472-8147 มือถือ 089-660-1464 แฟกซ์. 0-2472-8147
แผนที่วัดโมลีโลกยาราม | พัฒนาเว็บไซต์โดย schooljob.in.th หางานโรงเรียน สมัครเป็นครู ทุกสาขาทั่วไทย