ประวัติ วัดโมลีโลกยาราม


 

ชั้นและที่ตั้งวัด
           วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด ราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๒ หลังพระราชวังเดิมครั้งกรุงธนบุรี ริมคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) ฝั่งเหนือ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

เขตและอุปจารวัด
           วัดนี้มีเนื้อที่จำนวน ๑๒ ไร่ ๓ งาน เว้นด้านหน้าวัดซึ่งจดคลองบางกอกใหญ่ด้านเดียวนอกนั้นกำแพงสูงประมาณ ๕ ศอก ล้อมทั้ง ๓ ด้าน บางด้านเป็นกำแพงพระราชวังเดิมเนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานพระราชวังเดิมสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง มีอาณาเขต ดังนี้

           ทิศเหนือ        ติดกำแพงกองทัพเรือ กรมสื่อสารทหารเรือ

           ทิศใต้            ติดคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งตรงกันข้ามเป็นที่ตั้งของวัดกัลยามิตร

           ทิศตะวันออก ติดกำแพงกองทัพเรือ บริเวณอาคาร ๕

           ทิศตะวันตก    ติดบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่วัดและสะพานอนุทินสวัสดิ์

ผู้สร้างและผู้ปฏิสังขรณ์
           วัดนี้เป็นวัดโบราณ สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อพุทธศักราชเท่าใด และใครเป็นผู้สร้าง มีชื่อเรียกทั่วไปว่า "วัดท้ายตลาด" มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน เนื่องจากตั้งอยู่ต่อจากตลาดเมืองกรุงธนบุรี คำว่า ตลาดเมืองธนบุรี นั้น ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า เดิมแม่น้ำพระยาไม่ได้ตัดเป็นเส้นตรงอย่างเช่นทุกวันนี้ ช่วงระหว่างปากคลองตลาดบางกอกน้อยบริเวณโรงพยาบาลศิริราชถึงบริเวณท่าเตียนนั้นเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ขุดขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๙) แห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสัญจรทางน้ำการสงคราม การค้าขายทั้งในและนอกราชอาณาจักร เป็นต้น สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมในช่วงบางกอกนั้นเป็นสายที่คิดเคี้ยว เมื่อไหลเข้าสู่บางกอกจะไหลวกเข้าสู่คลองบางกอกน้อยเชื่อมต่อคลองบางกอกใหญ่ ไหลมาออกที่ปากน้ำบริเวณหน้าวัดท้ายตลาดกับบริเวณข้างวัดกัลยาณมิตร ทำให้เสียเวลาในการเดินทางเรือ จึงโปรดให้ขุดคลองลัดบางกอกดังที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งบริเวณเหล่านี้ในสมัยนั้นเป็นตลาดน้ำขนาดใหญ่ที่มีเรือสินค้าทุกประเภทจอดเรียงรายเพื่อค้าขายสินค้าทุกชนิดเต็มไปหมด ซึ่งได้แก่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่และปากคลองตลาดทุกวันนี้ วัดนี้จึงเรียกว่า "วัดท้ายตลาด" พระอารามนี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติและราชวงศ์ ดังนี้

สมัยกรุงธนบุรี
           หลังสถาปนากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นราชธานีแห่งใหม่ของสยามประเทศแล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเห็นว่าบริเวณเขตพระราชวังมีความคับแคบ เนื่องจากมีวัดขนาบอยู่ทั้งสองด้าน จึงทรงรวมเขตพื้นที่ของวัดทั้ง ๒ คือวัดท้ายตลาดกับวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) เข้าเป็นเขตพระราชวัง จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำตลอดสมัยกรุงธนบุรี วัดท้ายตลาดและวัดแจ้งจึงนับเป็นพระอารามในเขตพระราชงัวเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
          เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับที่ตั้งของกรุงธนบุรี คือ พระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรหรือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและสร้างเสนาสนะสงฆ์ขึ้นใหม่ จึงนับได้ว่า วัดนี้เป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่สมัยราชกาลที่ ๑

           ในการนี้ โปรดให้สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีหรือสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ (นาก) พระอัครมเหสีสร้างพระอุโบสถขนาดกลาง ทรงไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีลักษณะวิจิตรงดงาม เมื่อสร้างและบูรณะเสนาสนะเสร็จแล้ว โปรดให้พระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาทั้งวัดท้ายตลาดและวัดแจ้ง ทรงตั้งพระมหาศรี เปรียญเอก วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เป็นพระเทพโมลี พร้อมคณะพระอันดับมาครองวัดท้ายตลาด นับเป็นปฐมเจ้าอาวาสในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลัง ท่านได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น พระพุทธโฆษาจารย์ และทรงตั้งให้พระปลัดสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) เป็นพระโพธิวงศาจารย์ ให้พระครูเมธังกร วัดบางหว้าใหญ่ เป็นพระศรีสมโพธิ โปรดให้พระราชาคณะทั้งสองมาครองวัดแจ้ง

           สมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า "‌วัดพุทไธสวรรย์" หรือ "วัดพุทไธสวรรยาวาศวรวิหาร" ทรงเจริญพระราชศรัทธาในอดีตเจ้าอาวาสวัดนี้ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เนื่องจากสมัยนั้นสถานศึกษาวิชาการอยู่ตามวัด โปรดให้พระราชโอรสหลายพระองค์เสด็จมาทรงพระอักษรกับเจ้าประคุณสมเด็จรูปนี้ ทั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็นพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น นอกจากนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพุทธโฆษาจารย์ ได้เป็นพระราชกรรมวาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อผนวชอีกด้วย ดังบันทึกไว้ในพงศาวดารว่า

           "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งยังทรงตำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พระญาณสังวรเถร (สุก)  เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์"

           สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์ทั้งทั้งพระอารามให้บริบูรณ์งดงามยิ่งขึ้นกว่าเก่า สิ้นพระราชทรัพย์ห้าร้อยเก้าสิบหกชั่งแปดตำลึง ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า "วัดโมลีโลกย์สุธารามอาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง" เรียกสั้น ๆ ว่า "วัดโมลีโลกย์สุธาราม"  ซึ่งต่อมา เรียกว่า วัดโมลีโลกยาราม

           ในรัชกาลนี้ ทรงพระราชทานสถาปนาพระพุทธโฆษาจารย์ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์" และถึงมรณภาพในรัชกาลนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้หล่อรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) คราวเดียวกับพระรูปของพระญาณสังวรเถร (สุก) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ไว้ทรงสักการบูชาในหอพระเจ้า (หอสมเด็จวัดโมลีโลกย์) เมื่อปีเถาะ พุทธศักราช ๒๓๘๖ เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาเวลาเสด็จมาทอดผ้าพระกฐิน

           มีประวัติเนื่องในพระราชวงศ์อีกอย่างหนึ่ง เมื่อรัชกาลที่ ๓ ครองราชย์สมบัติแล้วสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีหรือกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง (เจ้าฟ้าบุญรอด พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๗๙) พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงเป็นพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จเสด็จออกไปประทับอยู่กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสพระอง๕น้อยที่พระราชวังเดิม เมื่อรื้อตำหนักไม้ในพระบรมมหาราชวังเปลี่ยนสร้างเป็นพระตำหนังตึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อพระตำหนักแดง ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีพระองค์นั้นเคยประทับไปสร้างถวายที่พระราชวังเดิมทั้งหมู่ ครั้นสมเด็จพระราชินีพระองค์นั้นสรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อพระตำหนักแดงที่พระราชมารดาเสด็จประทับไปสร้างถวายเป็นกุฏีเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกย์

           ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นว่า พระตำหนักแดงหลังนั้นควรจะอยู่ที่วัดเขมาภิรตารามเนื่องจากเป็นวัดที่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีพระราชมารดาของพระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์จึงโปรดให้กระทำผาติกรรมย้ายพระตำหนักแดงหลังนั้นไปสร้างเป็นกุฎีเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม และทรงสร้างกุฎีตึกพระราชทานเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกย์แทนพระตำหนักแดง ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ทั้ง ๒ แห่งนอกจากนั้นได้ทรงปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และปูชนียวัตถุอื่น ๆ ในวัดโมลีโลกย์ตลอดทั้งพระอารามอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ พระอง๕ได้ทรงบูรณะพระอุโบสถโดยพระราชทานตราไอยราพรต ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดินสมัยนั้นประดิษฐานไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถด้วย

           พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะหอพระไตรปิฏกตรงกับสมัยพระธรรมเจดีย์ (อยู่) เป็นเจ้าอาวาส และเสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐิน พ.ศ.๒๔๑๘

           พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงจัดลำดับพระอารามหลวงโปรดให้วัดโมลีโลกยารามเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด ราชวรวิหาร และเสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐิน พ.ศ.๒๔๕๘

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐินเมื่อวันพุธ ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๑ นอกจากนั้น ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ รัฐบาลยังได้บูรณพระอาราม โดยเฉพาะเขตพุทธาวาส ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหาร หอสมเด็จ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี อีกด้วย

           สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จมาวัดโมลีโลกยารามเพื่อนมัสการพระประธานในพระอุโบสถและเพื่อทอดพระเนตรหอพระไตรปิฎกสมัยราชกาลที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๑

           นับได้ว่า วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทยและโบราณคดี เนื่องจากเป็นวัดที่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่ทรงคุณค่าต่อการศึกษา มีความสำคัญต่อประเทศชาติและเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ สรุปได้ดังนี้

๑.       เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง ๓ รัชกาลเป็นอย่างน้อย ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม

๒.      เป็นสถานที่ศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้นของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อยังทรงพระเยาว์

๓.       เป็นที่สถิตของสมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงคุณธรรมสำคัญ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ผู้เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวช

           อนึ่ง การบูรณปฏิสังขรณ์นอกจากที่กล่าวมาแล้วในยุคก่อน ก็น่าจะมีเจ้าอาวาสหรือผู้หนึ่งผู้ใดได้ปฏิสังขรณ์บ้าง แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏ พึ่งมาปรากฏในยุคพระสนิทสมณคุณ (เงิน) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ ๘ ได้จัดการปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้ดีขึ้นหลายแห่ง แต่ยังไม่ทันสมบูรณ์ก็ถึงมรณภาพ ครั้งถึงยุคพระประสิทธิคุณ (จ้อย) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ ๙ ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุสำคัญขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น เสนาสนะสงฆ์ พระประธาน ถนนและทำเขื่อนคอนกรีตหน้าวัด เป็นต้น ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งวัดอีกครั้งในยุคของพระพรหมกวี (วรวิทย์) เป็นเจ้าอาวาส ในช่วงระหว่างพุทธศักราช ๒๕๔๗-๒๕๕๑ เพื่อรองรับพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาอยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จำนวนมากกว่า ๑๕๐ รูป
 

ประวัติ วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร
รวบรวมเรียบเรียงโดย

พระเทพปริยัติโมลี(สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.๙)


- สำนักงานเจ้าคณะภาค 9
- มหาบาลีวิชชาลัย
- คณะสงฆ์ภาค 10
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- ประกาศรับสมัครครู
วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
โทร. 0-2472-8147 มือถือ 089-660-1464 แฟกซ์. 0-2472-8147
แผนที่วัดโมลีโลกยาราม | พัฒนาเว็บไซต์โดย schooljob.in.th หางานโรงเรียน สมัครเป็นครู ทุกสาขาทั่วไทย