โบราณสถาน - ปูชนียสถาน


พระอุโบสถ

          มีลักษณะทรงไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ หลังคามุขลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้าใบระกาไม้สัก ลงรักปิดกระจก ภายในผนังและเพดานมีภาพเขียนทรงพุ่ม ข้าวบิณฑ์ ประตูและหน้าต่างแกะสลักเป็นลายกนก ลงรักปิดทองสวยงาม ยาว ๒๕ เมตร กว้าง ๙.๕๐ เมตรพระอุโบสถหลังนี้ สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง หรือสมเด็จพระอมรินทราบรมราชชนนี พระราชมารดาในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฉิม กรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒) ได้ทรงสร้างขึ้นโดยทรงผูกพัทธสีมา ณ เวลาบ่าย วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ปีมะเส็ง ตรีศก จ.ศ.๑๑๘๓ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดให้ทรงบูรณะได้สวยงามอีกครั้ง ทรงประดิษฐานตราไอยราพรตซึ่งเป็นตราแผ่นดินประจำประองค์สมัยนั้นไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถอีกด้วย



 
พระวิหาร
 
           พระวิหารเป็นปูชนียสถานที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดของวัด ตั้งอยู่ตรงหน้าพระอุโบสถหันหน้าลงสู่ลำคลองบางกอกใหญ่ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อวัดนี้ได้ถูกรวมเข้าเป็นเขตพระราชฐานพระราชวังธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เป็นสถานที่เก็บเกลือ เพราะสมัยนั้นเกลือมีความสำคัญมากในการถนอมอาหาร สามารถเก็บอาหารไว้ได้นาน จนถึงมีคำกล่าวกันว่า "หากจะโจมตีบ้านเมือง จะต้องทำลายฉางเกลือ คลังเสบียง และคลังแสงให้ได้" จึงเรียกกันว่า "พระวิหารฉางเกลือ" จนปัจจุบัน ซึ่งถือว่ามีหนึ่งเดียวในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์


 วิหารหลังนี้มีลักษณะไทยผสมจีน กว้าง ๘.๗๕ เมตร ยาว ๑๙.๗๕ เมตร หลังคามุขลด ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบดินเผา มีช่อฟ้าใบระกาปูนปั้น ภายในมีฝากผนังก่อด้วยอิฐปูนกั้นเป็น ๒ ตอน ตอนหน้า กว้างใหญ่โอ่โถ่ง ตรงกลางมีฐานชุกชีก่อด้วยอิฐฉาบปูนเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยต่าง ๆ กว่า ๒๐ องค์ บนฐานชุกชีตอนหลังมีพระพุทธรูปปั้นขนาดใหญ่ ๑ องค์ และพระพุทธรูปปั้นขนาดย่อมอีกหลายองค์ นัยว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณสันนิษฐานว่าหล่อขึ้นตั้งแต่สมัยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์หลายวาระ ส่วน ตอนหลัง  เป็นห้องเล็กมีพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ นามว่า "พระปรเมศ" ผินพระพักตร์ไปทางพระอุโบสถ และมีรูปหล่อพระอัครสาวกทั้งสอง ผนังและเพดานเขียนลวดลายงดงาม สำหรับผนังทั้งหมดฉาบปูน ประตู และหน้าต่างทุกช่องเขียนลวดลายรดน้ำงดงาม เพดานเขียนลวดลายเป็นกลุ่มดาว พระอุโบสถและพระวิหารทั้ง ๒ นี้มีกำแพงแก้วล้อมรอบ กำแพงสูงประมาณ ๔ ศอก นับว่า เป็นพระวิหารที่มีลักษณะพิเศษที่หาดูได้ยากยิ่งนัก
หอสมเด็จ
 
           หอสมเด็จนี้ แบ่งเป็น ๒ ชั้น คือชั้นฐานและชั้นตัวหอ ชั้นฐาน กว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๒๑.๕๐ เมตร เป็นฐานรับหอสมเด็จและพระเจดีย์ทรงลังกา ๔ องค์ มีบันไดขึ้นลง ๒ ทาง ด้านล่างแบ่งเป็นช่อง ๆ แต่ละช่องมีรูปปั้นทหารฝรั่งแบกฐานไว้จำนวนมาก ส่วน ชั้นตัวหอ  ประกอบด้วยหอสมเด็จและองค์พระเจดีย์ทั้ง ๔ ซึ่งสันนิษฐานกันว่า พระเจดีย์ทั้งหมดนี้บรรจุพระเมาฬีของรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ เป็นที่มาของชื่อวัดนี้ เฉพาะตัวหอสมเด็จกว้าง ๔.๐๐ เมตร ยาว ๘.๖๐ เมตร เป็นตึกทรงไทย ภายในประดิษฐานรูปหล่อของมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ผู้เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓



           หอสมเด็จนี้ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ผู้เป็นพระอาจารย์ของพระองค์ ซึ่งโปรดให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๖ เพื่อเป็นอาจริยบูชาและเป็นที่สักการะบูชาของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร และประชาชนทั่วไป

          หลังคาของหอสมเด็จมุงกระเบื้องเคลือบ ประตูและหน้าต่างเขียนภาพลายรดน้ำงดงามนักเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง นอกจากนั้น ยังมีหอเล็กติดต่อกัน ยื่นเข้ามาภายในลานพระอุโบสถก่อด้วยอิฐฉาบปูนเหมือนกัน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองโบราณ สร้างไว้เป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
หอพระไตรปิฎก 

         หอพระไตรปิฎกหรือหอไตร สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เป็นอาคารไม้สักทรงไทย ใต้ถุนสูง กว้าง ๗.๕๐ เมตร ยาว ๑๑.๕๐ เมตร หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ใช้ปูนปั้นรูปเจดีย์แทนช่อฟ้า ประตู หน้าต่าง และผนังด้านในเขียนภาพลายรดน้ำสวยงามมาก แต่เนื่องจากไม่ได้รับการบูรณะเป็นเวลานายลายรดน้ำก็เลือนรางไป ต่อมา รัชกาลที่ ๕ โปรดให้บูรณะขึ้นอีกครั้งสมัยพระธรรมเจดีย์ (อยู่) เป็นเจ้าอาวาส เดิมทีช่อฟ้าหางหงส์หอไตรนี้คงเป็นแบบไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์ทั่วไป แต่ที่เห็นเป็นรูปเจดีย์แทนสันนิษฐานว่า ในคราวซ่อมสมัยพระธรรมเจดีย์ (อยู่) ได้ทำเป็นเจดีย์ลอมฟางเล็ก ๆ ปั้นด้วยปูนไว้ที่ปั้นลมและชายปั้นลม แทนช่อฟ้าหางหงส์ โดยประสงค์ให้เป็นนิมิตในราชทินนามของท่าน ต่อมา พระรัตนมุนี (โสม) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๑ ก่ออิฐเสริมชั้นล่างทำเป็นห้องจึงทำให้เสียทรงเดิมไป


           ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานแห่งนี้ให้ดูสวยงามดังเดิม

           ส่วนโบราณสถานบางแห่ง ได้สูญหายและผุพังไปตารมกาลเวลา คือ ศาลาการเปรียญสร้างด้วยไม้จริงล้วน ยาว ๑๕ วา กว้าง ๕ วา หลังคามุข ลด ๒ ชั้น มุงกระเบื้องไทย มีช่อฟ้าใบระกา พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ มีตู้บรรจุพร้อม ๑ จบ พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องยศจอมพลทหารบก

- สำนักงานเจ้าคณะภาค 9
- มหาบาลีวิชชาลัย
- คณะสงฆ์ภาค 10
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- ประกาศรับสมัครครู
วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
โทร. 0-2472-8147 มือถือ 089-660-1464 แฟกซ์. 0-2472-8147
แผนที่วัดโมลีโลกยาราม | พัฒนาเว็บไซต์โดย schooljob.in.th หางานโรงเรียน สมัครเป็นครู ทุกสาขาทั่วไทย