การศึกษาและการก่อสร้างในอดีต


 
  การศึกษาในยุคนั้นเป็นการศึกษาตามแบบโบราณ คือ หัดเขียนหัดอ่าน เล่าเรียนสูตรมูลกัจจายน์และเรียนพระคัมภีร์เป็นต้น ต่อมาการศึกษาก็เปลี่ยนแปลงไปตายุคตามสมัย

           ความเป็นไปของวัดนี้ ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ สันนิษฐานว่ามีความเจริญมากทั้งการศาสนศึกษาและเสนาสนะสงฆ์ ด้วยเหตุผล ดังนี้

ประการที่ ๑ ด้านการศึกษาที่เกี่ยวกับราชวงศ์ในยุคสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน)
          การศึกษามีหลักฐานปรากฏว่า พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อยังทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้นในสำนักวัดนี้ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ด้วยว่า การศึกษาสำหรับกุลบุตรในสมัยนั้น โดยมากเรียนกันตามวัดตามสกุลนั้นทั้งนั้น เพราะไม่มีโรงเรียนแพร่หลายเหมือนปัจจุบันนี้ เมื่อผู้ปกครองมีความประสงค์จะให้บุตรของต้นศึกษาศิลปวิทยา ก็พาไปฝากเป็นศิษย์วัดโดยมากเพราะฉะนั้น ในยุคนั้น สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม น่าจะเป็นสถานที่ศึกษาสำคัญแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่วางพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๒ ให้เป็นสถานที่ศึกษาของพระราชโอรสและลูกเจ้านายสมัยนั้น เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง สำนักแห่งนี้มีนักปราชญ์ผู้เป็นอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ซึ่งได้แก่ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นพระมหาเถรผู้ทรงความรู้เชี่ยวชาญพิเศษแทบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านภาษาบาลี ภาษาขอม รวมทั้งอักษรไทยวิชาโหราศาสตร์ เป็นต้น เป็นที่เลื่องลือว่าเป็นหนึ่งไม่มีสองในยุคนั้นทีเดียว เป็นพระมหาเถรผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทรงคุณด้านวิปัสสนา นับว่าเก่งทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เป็นที่เจริญพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยดังกล่าว

ประการที่ ๒ ด้านการศึกษาพระบาลีในยุคสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม ป.๙)
           ในด้านการศึกษาพระบาลีในยุครัชกาลที่ ๒-๓ นั้น ยังเป็นการสอบแบบแปลด้วยปากเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่ สำนักเรียนวัดโมลีโลกย์นับว่ามีชื่อเสียงโด่งดังพอสมควร เนื่องจากมีนักปราชญ์ฝ่ายบาลี มีความรู้ถึงเปรียญ ๙ ประโยค ผู้เป็นอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ นั่น คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ท่านมีบทบาทด้านการศาสนศึกษาของคณะสงฆ์ไทยอย่างยวดยิ่ง ได้รับไว้วางพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๓ ให้เป็นคณะกรรมการสอบพระบาลีสนามหลวง ในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เป็นหึ่งในกรรมการสอบพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ขณะทรงผนวช นอกจากนั้น ท่านยังเปิดสอนพระบาลีในสำนักวัดโมลีโลกย์อีกด้วย มีลูกศิษย์หลายท่าน เช่น พระธรรมเจดีย์ (อยู่ ป.๔) พระนิกรมมุนี (ชู ป.๘) เป็นต้น

ประการที่ ๓ ด้านการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะสงฆ์
        เสนาสนะสงฆ์ ตลอดถึงพระอุโบสถและพระวิหารในยุคต้อนกรุงรัตนโกสินทร์นั้นได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ สมัยกรุงธนบุรี วัดนี้ไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำ เนื่องจากเขตพื้นที่วัดได้รวมเข้าอยู่ในเขตพระราชวัง ถึงรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้พระราชโอรส คือ รัชกาลที่ ๒ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นหลายอย่าง แล้วโปรดให้พระสงฆ์มาอยู่จำพรรษา  ทรงตั้งเจ้าอาวาสให้เป็นพระราชาผู้ใหญ่ที่พระเทพโมลี (ศรี) ต่อมา รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอารารมอีกครั้งหนึ่ง ในยุคนี้ นับว่าเจริญรุ่งเรืองมากเพราะได้รับการปฏิสังขรณ์จนตลอดทั่วถึง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดกระทำผาติกรรมเปลี่ยนเสนาสนะสงฆ์ ทรงสร้างกุฎีตึกเจ้าอาวาสหอสวดมนต์ หอกลาง และทรงซ่อมถาวรวัตถุอีก แม้ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดให้ปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฏกเป็นต้นอีกครั้งหนึ่ง นอกนี้ไม่ปรากฏว่าใครได้ปฏิสังขรณ์อะไรอีก แต่ต่อจากนี้ไป เสนาสนะก็ชำรุดทรุดโทรมลงบ้างแต่ไม่สู้มากนัก ครั้งถึงรัชกาลที่ ๖ ในยุคที่พระสนิทสมณคุณ (เงิน) ปกครองวัดได้จัดการปฏิสังขรณ์เสนาสนะขึ้นหลายอย่าง แต่จะนับว่าเจริญยังไม่ได้ ถึงยุคพระประสิทธิสีลคุณ (จ้อย) นับว่ามีความเจริญมากทั้งเสนาสนะและการศึกษา ซึ่งแต่ก่อนการศึกษาพระปริยัติธรรมยังไม่มีก็ได้จัดให้มีขึ้นส่วนเสนาสนะตลอดจนถนนและพื้นที่ของวัดแห่งใดชำรุดหรือไม่เรียบร้อย ก็ได้ปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงขึ้น จนถึงได้ทำเขื่อนคอนกรีตที่หน้าวัดเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ มาถึงยุคพระเทพปริยัติสุธี (วรวิทย์) ซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นที่พระพรหมกวี ได้ปรับปรุงเสนาสนะสงฆ์ครั้งใหญ่ทุกหลัง โดยดีดกุฎีทำเป็นสองชั้นเพื่อรองรับพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี จำนวนมาก

- สำนักงานเจ้าคณะภาค 9
- มหาบาลีวิชชาลัย
- คณะสงฆ์ภาค 10
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- ประกาศรับสมัครครู
วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
โทร. 0-2472-8147 มือถือ 089-660-1464 แฟกซ์. 0-2472-8147
แผนที่วัดโมลีโลกยาราม | พัฒนาเว็บไซต์โดย schooljob.in.th หางานโรงเรียน สมัครเป็นครู ทุกสาขาทั่วไทย