บันทึก เรื่อง สภาพวัดโมลีโลกยาราม


        เพื่อความทรงจำ และเพื่อวางแผนดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่เจ้าอาวาสให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีงาม เพื่อการวัดและการพระศาสนาจะได้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงบันทึกเกี่ยวกับสภาพวัดโมลีโลกยารามก่อนมาเป็นเจ้าอาวาสไว้ ดังต่อไปนี้

 

๑. เรื่องสิ่งก่อสร้างในวัด

ก. ภายในเขตพุทธาวาส

          ภายในบริเวณเขตพุทธาวาส ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของวัด สิ่งก่อสร้างปัจจุบันประกอบด้วย พระอุโบสถ พระวิหาร หอสมเด็จ และกุฎีสงฆ์

           ๑)  พระอุโบสถ พระอุโบสถหลังนี้ ลักษณะทรงไทยยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กว้าง ๙.๕๐ เมตร ยาว ๒๕ เมตร มีมุขยื่นหน้า-หลัง หลังคามุขลด ๓ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้าใบระกาไม้สัก ลงรักปิดกระจก แต่กระจกร่วงลงเกือบหมดสิ้น ช่อฟ้าด้านหลังหักไป ๒ ตัว หลังคามุขหลังลด ๒-๓ หักพังเกือบจะร่วง ภายในผนังและเพดานเขียนภาพทรงข้าวบิณฑ์ ประตูหน้าต่างแกะสลักลายกนกงดงาม ฐานและแท่นชุกชีพระประธานประดับกระจก (เริ่มร่วงหล่น) มีพระประธานปางมารวิชัยและพระอัครสาวกขวา-ซ้าย และตรงหน้ามีพระพุทธรูปสร้างใหม่ตั้งอยู่ข้างหน้าพระประธาน ๒ องค์ โดยหลักฐานตามพระราชพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ ยืนยันได้ว่า สร้างในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในขณะนี้กำลังทรุดโทรมทั้งหลังและแท่นพระประธาน

           ๒)  พระวิหาร พระวิหารหลังนี้ ลักษณะทรงไทยคล้ายผสมจีน กว้าง ๘.๗๕ เมตร ยาว ๑๙.๗๕ เมตร มีมุขด้านหน้า ทราบว่าแต่เดิมด้านหลังมีหลังเล็กสกัดฐานบังประตูอยู่ หลังคาลด ๒ ชั้น มุงกระเบื้องดินเผา ช่อฟ้าใบระกา ปั้นด้วยปูน ภายในกั้นเป็น ๒ ห้อง ห้องเล็กอยู่ด้านหลัง มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ และอัครสาวก ๒ องค์ ทราบว่าแต่เดิมผนังห้องนี้เขียนลวดลายงดงาม ภายหลังทาสีทับ แต่ส่วนบนยังปรากฏอยู่ ส่วนห้องใหญ่มีพระพุทธรูปประมาณ ๒๐ องค์ ส่วนมากเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ซึ่งพอกปูนใหม่ เพดานเขียนลวดลายดาวเป็นกลุ่ม ประตูหน้าต่างทุกช่องเขียนภาพลายรดน้ำงดงาม แต่ชำรุด ขณะนี้กำลังบูรณะ หลังคามุงกระเบื้องและกะเทาะฉาบปูนใหม่ทั้งหลัง โดยพระครูธรรมนิเทศก์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ดำเนินการ

           ๓)  หอสมเด็จ หอหลังนี้ แบ่งเป็น ๒ ชั้น คือ ชั้นฐานและชั้นตัวหอ ชั้นฐาน กว้าง ๖.๒๐ เมตร ยาว ๒๑.๕๐ เมตร เป็นฐานรับหอและพระเจดีย์ มีบันใดขึ้นลง ๒ ทาง ชั้นล่างแบ่งเป็นช่อง ๆ แต่ละช่องมีรูปทหารแบกส่วนฐานไว้ แต่ชำรุด บางช่องถูกสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิเสริมเข้า ส่วนบนประกอบด้วยพระเจดีย์รอบด้าน ๆ ละ ๒ องค์ รวมเป็น ๔ องค์ ด้านหน้าเป็นรูปอุโมงค์ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง เฉพาะตัวหอสมเด็จ กว้าง ๔.๐๐ เมตร ยาว ๘.๖๐ เมตร เป็นอาคารทรงไทย ภายในประดิษฐานรูปหล่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) พระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๓) หลังคา ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ ประตูหน้าต่างเขียนภาพลายรดน้ำงดงาม นับเป็นของที่หาดูได้ยาก แต่ปัจจุบันชำรุดพอควร

           ๔)  กุฎีสงฆ์ กุฎีหลังนี้ กว้าง ๓ เมตร ยาว ๑๕ เมตร ๒ ชั้น ชั้นบนมี ๖ ห้อง ชั้นล่างมี ๔ ห้อง อีก ๒ ห้องปล่อยว่าง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ พระครูธรรมนิเทศก์ เป็นผู้ดำเนินการ ดูยังแข็งแรงดีอยู่ แต่ที่สร้างไม่เหมาะสม

ข. ภายในคณะ ๑

          ๑)  หอไตร หอหลังนี้ ลักษณะทรงไทย กว้าง ๗.๕๐ เมตร ยาว ๑๑.๕๐ เมตร สร้างด้วยไม้จริง หลังคา ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ ประตู-หน้าต่าง-ผนังด้านใน เขียนภาพลายรดน้ำสวยงามยิ่ง สันนิษฐานว่า คงสร้างในรัชกาลที่ ๓ พระรัตนมุนี เจ้าอาวาสรูปก่อน ได้ก่ออิฐเสริมชั้นล่างทำเป็นห้องอยู่ ทำให้เสียทรง ขณะนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก ทั้งตัวอาคารและลายรดน้ำ

           ๒)  หอสวดมนต์ หอหลังนี้ ลักษณะเป็นอาคารตึกโบราณทรงไทยผสมจีน กว้าง ๑๑.๐๐ เมตร ยาว ๒๐.๐๐ เมตร หลังคา ๒ ชั้น มุงกระเบื้องดินเผา ไม่มีช่อฟ้าใบระกา รัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างเป็นค่าผาติกรรมเปลี่ยนตำหนักแดง (ตำหนักไม้สัก) ที่โปรดให้รื้อไปสร้างเป็นกุฎีเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม ขณะนี้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมจนใช้การไม่ได้

           ๓)  กุฎีเจ้าอาวาส กุฎีหลังนี้ ลักษณะทรงไทย พื้นสูง กว้าง ๑๐.๕๐ เมตร ยาว ๑๒.๕๐ เมตร หลังคาชั้นเดียว มุงกระเบื้องดินเผา มีกันสาดรอบ แต่ด้านข้างมีการต่อเติมเป็นระเบียงมาได้ไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปี ขุดพื้นชั้นล่างเทปูนเป็นที่อยู่อาศัยได้ รัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างเป็นกุฎีเจ้าอาวาส เพื่อเป็นค่าผาติกรรมแทนตำหนักแดง เช่นเดียวกับหอสวดมนต์ ขณะนี้ชำรุดทรุดโทรมแต่ยังพอใช้การได้อยู่

           ๔)  กุฎีตึกเก่า กุฎีหลังนี้ ลักษณะทรงไทย กว้าง ๕.๕๐ เมตร ยาว ๑๕.๕๐ เมตร มีระเบียงด้านหน้า หลังคามุงกระเบื้องดินเผา แต่ระเบียงหลังคามุงใหม่ด้วยกระเบื้องลอนใหญ่ ตรงห้องเล็กด้านหน้าทำเป็นห้องสุขา มีการบูรณะแล้ว อาจถึง ๒ ครั้ง แต่ขณะนี้ยังอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก

           ๕)  กุฎีเล็ก กุฎีหลังนี้ ตั้งอยู่หน้าหอสวดมนต์ เป็นอาคารตึกทรงไทย กว้าง ๔.๐๐ เมตร ยาว ๑๐.๕๐ เมตร หลังคามุงกระเบื้องดินเผา สร้างในสมัยพระสนิทสมณคุณ (เงิน) เป็นเจ้าอาวาส ขณะนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก

           ๖)  กุฎีแถวไม้ กุฎีหลังนี้ ลักษณะทรงไทย กว้าง ๓.๗๐ เมตร ยาว ๑๕.๐๐ เมตร สร้างด้วยไม้จริงยกพื้นสูง ขุดพื้นชั้นล่างเทปูนเป็นที่เก็บของได้ คงจะสร้างในสมัยพระประสิทธิสศีลคุณ (จ้อย) เป็นเจ้าอาวาส ขณะนี้เริ่มทรุดโทรม

           ๗)  หอกลาง หอหลังนี้ทราบว่าแต่เดิมเป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ใช้เป็นที่สอนพระปริยัติธรรม รัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างเพื่อเป็นค่าผาติกรรมพร้อมกับหอสวดมนต์ แต่พระครูสังวรโมลี (ชาลี) รื้อยุบสร้างใหม่เป็นชั้นเดียว พื้นติดดิน ขณะนี้ทรุดโทรมมาก

           อนึ่ง พื้นภายในบริเวณคณะ ๑ พื้นทางเดินกับพื้นหอกลางเสมอกันและบางแห่งสูงกว่าพื้นหอกลางอีก ทำให้ขาดความสง่างาม

ค. ภายในคณะ ๓

          ๑)  กุฎีเจ้าคณะ กุฎีหลังนี้ลักษณะทรงไทย สร้างด้วยไม้ ฝาลูกปะกนไม้สัก ขนาดยาว ๕ ห้อง อาคารเดิมสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่มีการบูรณะใหม่ ขณะนี้ชำรุดมากอยู่

           ๒)  กุฎีลูกคณะ กุฎีหลังนี้ สำหรับลูกคณะ มี ๒ หลัง ลักษณะทั่วไปอย่างเดียวกับกุฎีเจ้าคณะ มีความยาวหลังละ ๕ ห้อง หลังหนึ่งทรุดโทรมแต่ไม่มากนัก แต่อีกหลังหนึ่งทรุดโทรมมาก เกือบจะอยู่อาศัยไม่ได้

           ๓)  หอสวดมนต์ หอหลังนี้ เดิมเป็นกุฎี ภายหลังรื้อสร้างเป็นกุฎีโถงแบบหอสวดมนต์ขนาด ๕ ช่องหน้าต่าง สร้างใหม่ประมาณ ๓๐ ปีเศษ หลังคาเริ่มชำรุด

           อนึ่ง ใต้ถุนคณะนี้ เป็นที่ทิ้งขยะและสิ่งของ ดูสกปรกรกรุงรังยิ่ง

ง. ภายในคณะ ๔

          คณะนี้ มีกุฎีหลังเดียว ๒ ชั้น เดิมพื้นสูง ต่อมาก่ออิฐชั้นล่างและกั้นห้องขนาดยาว ๖ ช่องหน้าต่าง มีมุขยื่นออกกลาง ฝาลูกปะกน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา เริ่มทรุดโทรม

จ. ภายในคณะ ๕

          ๑)  กุฎีเจ้าคณะ กุฎีหลังนี้ ลักษณะทรงไทย ฝาลูกปะกน ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนเป็นห้องอยู่อาศัย ชั้นบนเป็นอาคารไม้ ฝาลูกปะกนเก่า เพราะรื้อของเก่าสร้างใหม่ ขนาดยาว ๖ ช่องหน้าต่าง ห้องเล็กหน้าห้องดัดแปลงเป็นห้องสุขา อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมมาก

           ๒)  กุฎีลูกคณะ กุฎีสำหรับลูกคณะมี ๒ หลัง มีลักษณะอย่างเดียวกับกุฎีเจ้าคณะ แต่ความยาว ๕ ช่องหน้าต่าง ชำรุดทรุดโทรมทั้ง ๒ หลัง

           ๓)  กุฎีตึกลูกคณะ กุฎีหลังนี้ ตั้งอยู่ริมแถว ยาว ๑๔ ช่องหน้าต่าง ใช้เป็นกำแพงวัดในตัว รื้อของเดิมสร้างใหม่เมื่อเจ้าอาวาสรูปก่อน แต่ก็เริ่มทรุดโทรม

           อนึ่ง ภายในบริเวณคณะ ๕ ตรงกลางโล่งพอควร ชั้นล่างกุฎีลูกคณะมีคฤหัสถ์อยู่อาศัยเพื่อประกอบอาชีพหลายคน และสุนัขมาก อีกประการหนึ่ง บริเวณติดกับคณะ ๕ ด้านกุฎีเจ้าคณะ มีชาวบ้านปลูกบ้านอยู่อาศัยใกล้ชิดกับกุฎีสงฆ์มากจนเกินงาม ๒ หลัง หลังหนึ่งปลูกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี อีกหลังหนึ่งเริ่มปลูกก่อนหน้าที่เจ้าอาวาสรูปก่อนจะมรณภาพ

ฉ. ภายในคณะ ๖

          ๑)  กุฎีเจ้าคณะ กุฎีหลังนี้ ลักษณะทุกส่วนเช่นเดียวกับคณะ ๔ แต่รักษาความสะอาดได้ดีกว่า

           ๒) กุฎีใหม่ กุฎีหลังนี้ ลักษณะเป็นกุฎีไม้ หลังคาลาด ๒ ชั้น ๆ ล่างพื้นติดดิน ตั้งอยู่นอกคณะ อยู่ใกล้กับโรงเรียนพระปริยัติธรรม

ช. ภายในบริเวณวัด

          ๑)  โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนหลังนี้ เป็นอาคารตึก ลักษณะทรงไทย ๒ ชั้น กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๘ เมตร ๑ มุข หลังคามุงกระเบื้องเคลือลอนเล็ก มีรั้วรอบดี แต่ก็เป็นที่มั่วสุมเพราะขาดการดูแลใกล้ชิด สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ เริ่มชำรุดบางส่วน

           ๒)  ศาลาท่าน้ำ ด้านหน้าวัดมีศาลาท่าน้ำ ๒ หลัง ลักษณะทรวดทรงงดงามทั้ง ๒ หลัง เป็นของมีอยู่เดิมได้สึกกร่อน เมื่อถมดินเพิ่มภายหลังทำให้ดูเตี้ยไป มีการบูรณะใหม่เมื่อพระครูสังวรโมลีและพระรัตนมุนีเป็นเจ้าอาวาส ขณะนี้ก็ดูโทรม

           ๓)  หอระฆัง หอหลังนี้ ลักษณะชั้นล่างทรงสถูป ชั้นบนทรงพระเจดีย์ แต่ยอดหัก รูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง-ยาว ๕ เมตร สูงประมาณ ๙ เมตร ก่ออิฐโบราณ ดูงดงามพอควร รอบหอชาวบ้านใช้เป็นที่พัก แม้อุโมงค์ชั้นล่างก็ใช้เป็นที่เก็บของ ชั้นบนมีกรงเลี้ยงนก และผูกเชือกขึงผ้าใบ ประหนึ่งว่าถูกยึดแล้ว

           ๔)  สระน้ำโบราณ สระนี้เป็นของเก่า สร้างมาแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐาน ขนาดกว้าง ๑๐.๘๐ เมตร ยาว ๑๕.๓๐ เมตร ลึกโดยประมาณ ๔ เมตร ผนังรอบสระก่ออิฐโบราณหนาพอควรเป็นเขื่อนกั้นดินพัง แต่ร้าวทรุดในบางจุด รอบ ๆ สระมีต้นไม้เล็กเกิดและมีกองขยะ ชาวบ้านระบายน้ำห้องสุขาลงสู่สระ ในน้ำมีปลาและตะพาบขนาดใหญ่ ถ้าได้บูรณะแล้วจะดูงดงาม

๒. สภาพพื้นที่วัด

          ๑)  สภาพทั่วไป บริเวณนี้มีหมู่บ้านรอบ บางตอนมีกำแพง แต่บางตอนปล่อย
โล่ง ๆ ไว้ ไม่มีกำแพงเป็นเขต ดูบ้านก็เหมือนวัด ดูวัดก็เหมือนบ้าน เป็นเหตุให้ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย บางแห่งหลังคาบ้านครอบคลุมกำแพงแก้วรอบเขตพุทธาวาสก็มี

           ๒)  ด้านหน้าพระวิหาร ตรงติดประตูเข้าเขตพุทธาวาส ด้านซ้ายมือเวลาออก ตรงหน้าพระวิหารมีชาวบ้านปลูกเพิงอยู่ทำประโยชน์แล้ว ๑๐ ปีเศษ ดูเสียทัศนียภาพ และด้านขวามือเป็นที่กองขยะและเศษวัสดุอื่น ๆ ดูรกรุงรังมาก

           ๓)  ชายฝั่งคลอง ตรงศาลาท่าน้ำหรือหน้าพระวิหาร มีคนเข้าพักอาศัยแบบอยู่ประจำ มีทั้งผัว-เมีย-ลูกอ่อน รอบ ๆ ศาลาเป็นที่ขังไก่ชน ดูแล้วน่าเวียนหัว อีกด้านตรงกุฎีเจ้าอาวาสก็รกรุงรังไม่แพ้กัน เพียงแต่ไม่มีผู้คนเข้าพักอาศัย พื้นที่บริเวณชายคลอง เจ้าอาวาสก่อนปลูกต้นไม้ไว้หลายต้น แต่ถูกเบียดเบียนจนงอกงามมิได้

           ๔)  ใต้ต้นจันทน์ ใต้ต้นจันทน์ข้างขอบสระ เป็นที่กองเศษไม้และเศษวัสดุอื่น ๆ ล้วนแต่เป็นของใช้ไม่ได้แล้ว และชาวบ้านสร้างเพิงเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว ใต้ต้นไทรเป็นที่แขวนกรงเลี้ยงนก

           ๕)  ทางเข้าวัด มีถนนเข้าวัดสายเดียว กว้างเพียง ๑.๘๐ เมตร ตรงโค้งแหน่งหนึ่งหักข้อศอก รถเลี้ยวด้วยความลำบากยิ่ง รถไม่มีโอกาสหลีกกันได้เลย ดูลำบากจริง ๆ

           ๖)  ในเขตพุทธาวาส ด้านหลังพระอุโบสถ มีบ้านพักคนงานของผู้รับเหมาบูรณะโบราณสถานในพระราชวังเดิม ซึ่งขอพักอาศัยชั่วคราวหลายหลัง ทำให้รกรุงรังแต่ไม่มีปัญหามากนัก เพราะมิได้อยู่ประจำ แต่ดูคนเข้าออกค่อนข้างพลุกพล่าน แต่ด้านขวามือนอกกำแพงแก้ว มีบ้านคนอยู่ตลอดแนวทำให้เสียทัศนียภาพพระอุโบสถ ดูเสมือนหนึ่งว่ามิใช่แดนเคารพเลย

๓. งานภายในวัด

          งานภายในวัดเท่าที่สอบถามรายละเอียดบางอย่าง เช่น การเงิน การบัญชี แม้การทรัพย์อื่น ๆ การทะเบียนทรัพย์สินของวัด ทะเบียนหนังสือเข้า-ออก ทะเบียนพระภิกษุสามเณร มิได้มีหลักฐานใด ๆ เพียงแต่ทราบว่า การจัดประโยชน์ที่ดินวัด กรมการศาสนาเป็นผู้จัดการ จำนวนพระภิกษุสามเณรของเดิมทั้งที่อยู่ในสังกัด ทั้งที่มาขอยู่เป็นอาคันตุกะ มี ๓๖ รูป ศิษย์อยู่ตามคณะต่าง ๆ บางคณะจำนวนมาก แต่ผู้อยู่เพื่อการศึกษาจริงมีน้อย นอกนั้นเป็นผู้อาศัยวัดเพื่อประโยชน์ส่วนตัว บางคณะมีอยู่เพื่อประกอบอาชีพก็มี ส่วนการทำกิจวัตรเช้า-เย็น ยังพอทรงได้ โดยพระมหาบุญจันทร์ ป.ธ.๘ รองเจ้าอาวาส เอาภาระธุระดี งานธุรการอื่น พระครูธรรมนิเทศก์ เอาภาระอยู่

           อนึ่ง วัดนี้ แต่เดิมมาการศาสนศึกษาทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีขึ้นกับสำนักเรียนวัดมหาธาตุ ได้แยกตัวตั้งเป็นสำนักเรียน เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ ระยะแรกมีนักเรียนแผนกบาลีสอบได้พอสมควร แต่ระยะหลังทรุดลง เพราะพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัยเรียนสนใจเรียนสายสามัญมากกว่าพระปริยัติธรรม อย่างปี ๒๕๓๙ สอบบาลีได้ ๓ รูป และปี ๒๕๔๐ สอบบาลีได้เพียง ๒ รูป ถือว่าทรุดเกือบถึงศูนย์ คงต้องรีบแก้ไขปรับปรุง

           ที่บันทึกนี้ บันทึกตามสภาพที่เป็นจริง เพื่อให้มองเห็นว่า แต่ละอย่างเป็นเรื่องท้าทายสติปัญญาและบารมีของเจ้าอาวาสใหม่เพียงใด.

 

พระเทพปริยัติสุธี*

๑ สิงหาคม ๒๕๔๐

- สำนักงานเจ้าคณะภาค 9
- มหาบาลีวิชชาลัย
- คณะสงฆ์ภาค 10
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- ประกาศรับสมัครครู
วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
โทร. 0-2472-8147 มือถือ 089-660-1464 แฟกซ์. 0-2472-8147
แผนที่วัดโมลีโลกยาราม | พัฒนาเว็บไซต์โดย schooljob.in.th หางานโรงเรียน สมัครเป็นครู ทุกสาขาทั่วไทย